Saturday, June 30, 2012

ตะลุยแหล่งกาแฟบนดอยสูงและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ตอนที่ 1

 ผมชอบประโยคของ Theodore Bikel ที่กล่าวว่า "คุณไม่สามารถคาดหวังให้โลกทั้งใบเดินทางมาหาคุณได้หรอก คุณต้องออกเดินทางไปหามันเอง" ผมว่านี่แหละคือความจริงของการเดินทาง 


     จุดประสงค์ในการเดินทางครั้งนี้คือการออกค้นหาแหล่งปลูกชาและกาแฟบนยอดดอยสูงทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเป้าหมายที่เราวางกันไว้คือดอยแม่สลอง ดอยช้าง ดอยวาวี และโครงการดอยปู่หมื่นบนยอดเขาผ้าห่มปกหรือฟ้าห่มปก ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ของการเดินทางในครั้งนี้ แต่การเดินทางในบางครั้งเราก็มักพบเจออะไรแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอและทุกเส้นทางของการก้าวเดินก็ล้วนมีอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย เอาละ...ผมจะขอเริ่มต้นเล่าถึงการเดินทางในครั้งนี้นับแต่วันแรกของการสะพายเป้ใบเขื่องออกจากบ้านไปเลยทีเดียว...






     ในเช้าวันพุธอันแสนวุ่นวาย ใครต่อใครกำลังแย่งกันขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ติดแหงกอยู่บนท้องถนนหรือกำลังวุ่นวายใจกับงานที่ต้องทำในวันนั้น แต่สำหรับผมและทีมงานอีกสองสามคนกลับเดินสวนทางกับผู้คนส่วนใหญ่ พวกเราสะพายเป้ใบเขื่อง รองเท้าผ้าใบสีเก่า กางเกงขาดๆ และเสื้อยีนส์สีซีดออกจากเมืองนี้ แล้วมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือตอนบนของประเทศเพื่อออกค้นหาแหล่งปลูกชาและกาแฟบนยอดดอยสูง ในหน้าฝนเช่นนี้น้อยคนนักที่จะออกเดินทางไกล เนื่องจากการเดินทางในช่วงฤดูฝนนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคต่างๆ มากมาย เช่น ฤดูฝนไม่มีวันหยุดยาวเหมือนช่วงฤดูกาลอื่นๆ หรือเพราะความยากลำบากอันเกิดจากเม็ดฝนโปรยก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเดินทางด้วยเช่นกัน


วันที่หนึ่ง : การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กับชุมชนบ้านนาแหลม จังหวัดแพร่



  
     พวกเราใช้เวลาราว 7 ชั่วโมงเศษก็เดินทางมาถึงจังหวัดแพร่ จุดแรกของการเดินทางคือการออกสำรวจเส้นทางปั่นจักรยานในชุมชนบ้านนาแหลม แพร่เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองข้ามเพราะเมืองเล็กๆ แห่งนี้ถูกมองว่าเป็นแค่เส้นทางผ่านของการเดินทางเท่านั้น แม้แต่บริษัททัวร์หลายบริษัทก็ยังลังเลใจที่จะลิสต์เมืองนี้ลงไปในโปรแกรมทัวร์ หรือบางแห่งก็จัดไว้ในโปรแกรมที่เรียกว่า Optional Program เท่านั้นเอง ที่บ้านนาแหลมแห่งนี้เรามีโอกาสได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตท้องถิ่นของชาวชุมชนได้อย่างแท้จริง เราเริ่มต้นเส้นทางปั่นจักรยานที่บ้านทำอิฐของพี่ตู่ ตามด้วยบ้านทำข้าวแต๋นที่บ้านพี่ทิพย์ เจ้าของบ้านเล่าว่าทุกครั้งที่นักท่องเที่ยวฝรั่งตาน้ำข้าวปั่นจักรยานมาถึงบ้านก็มักจะบิดกล้วยน้ำว้าที่พี่ิทิพย์แขวนไว้ หน้านบ้าน จัดการปอกเปลือกเสร็จสรรพก็จับเข้าปากเคี้ยวกันหนุบหนับกลืนกินกันอย่างเอร็ดอร่อย กล้วยน้ำว้านับเป็น Signature หรือผลไม้สุดโปรดของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไม่แพ้ข้าวแต๋นเลยทีเดียว จากนั้นพวกเราก็มุ่งหน้าต่อไปที่บ้านลุงสมเพื่อดูการทำกระติ๊บข้าวเหนียวแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน ลุงสมแกขายใบละ 50 บาทแต่ถ้าขายให้กับฝรั่งราคาก็จะขึ้นไปที่ใบละ 100 บาท  เราเดินทางต่อไปที่ร้านทำผ้าบาติกโดยเจ้าของเป็นหนุ่มใหญ่นามว่าพี่ช้าง ผ้าบาติกที่นี่มีการส่งออกไปต่างประเทศด้วยและมีการลงในนิตยสาร Fashion Review เช่นกัน พี่ช้างเล่าให้ฟังว่าหลังจากเรียนจบแกก็นำความรู้ด้านนี้มาทำธุรกิจที่บ้านเกิด เริ่มแรกก็มีปัญหาแต่ด้วยใจรักทำให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาได้เกือบ 24 ปี และตอนนี้พี่ช้างก็สนุกไปกับออร์เดอร์สินค้าที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนทำแทบไม่หวาดไม่ไหว และบางครั้งพี่ช้างก็ไปออกงานที่อิมแพ็คเมืองทองธานีด้วย






    ก่อนตะวันลับเหลี่ยมภูผา เราแวะดูการตีมีดตีเคียวที่บ้านร่องฟอง ทางคนงานเล่าให้เราฟังว่าออร์เดอร์สินค้าส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและเวียดนาม เป็นต้น ระหว่างการเดินชมในโรงงานเล็กๆ แห่งตำบลนี้เราเห็นคนงานกำลังวุ่นหน้าเป็นมันอยู่กับการทำลาบพื้นบ้าน กลิ่นหอมของลาบในกะทะใบใหญ่แตะจมูกของพวกเราจนท้องร้องจ๊อกๆ จนต้องรีบกลับเข้าที่พักแล้วตะบึงรถไปทานข้าวกันที่ร้านอาหารมัจฉาพาโชคซึ่งเป็นร้านอาหารที่มีบ่อตกปลาให้บริการกับลูกค้าที่สนใจด้วย บรรยากาศของร้านในยามที่ตะวันลับฟ้าไปแล้วดูเงียบสงบ มีเสียงเพลงขับกล่อมอยู่เบาๆ พร้อมสายลมที่พัดพรูผ่านมาอยู่เป็นระยะทำให้บรรยากาศของการทานอาหารมื้อเย็นในวันนั้นเต็มไปด้วยกลิ่นอายของชนบทชวนให้เราเพลิดเพลินกับการทานอาหารอยู่นานพอควร...


ติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางจักรยานและการเช่าจักรยานได้โดยตรงจากคุณ เรืองโรจน์ หัวหน้ารปภ. โรงแรมแม่ยมพาเลสหรือโทรสอบถามได้ที่ 


โรงแรมแม่ยมพาเลส 


โทร. 054-522904
email: wccphrae@hotmail.com


วันที่สอง : ตะลุยเชียงแสน (วันที่ 1)


    เริ่มต้นในเช้าวันใหม่ พวกเราเช็คเอ้าท์ออกจากโรงแรมแม่ยม พาเลส เพื่อมุ่งหน้าสู่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ก่อนเดินทางออกจากแพร่ พวกเราแวะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ไม้สักซึ่งครั้งหนึ่งเึคยเป็นสำนักงานของบริษัท East Asiatique จากเดนมาร์ก ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เราจะเห็นรูปภาพบันทึกเรื่องราวในอดีตของการทำไม้และการค้าขายไม้รวมทั้งไม้สักที่กลายเป็นหิน จากนั้นพวกเราก็ไปเยี่ยมชมบ้านวงศ์บุรีหรือคุ้มวงศ์บุรีซึ่งเป็นบ้านของเจ้าพรหม ผู้สืบเชื้อสายมาจากอดีตเจ้าเมืองแพร่ ปัจจุบันเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์และถูกใช้เป็นฉากหนึ่งในละครเรื่องรอยไหมทางช่อง 3 และที่สุดท้ายที่พวกเราแวะคือบ้านหม้อห้อมป้าเหลือง ในหมู่บ้านทุ่งโฮ้ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านผลิตเสื้อหม้อห้อมที่ขึ้นชื่อมากที่สุดในจังหวัดแพร่ ป้าเหลืองอธิบายให้พวกเราฟังว่า คำว่าหม้อห้อม (ซึ่งบางที่ก็เขียนว่า หม้อฮ่อม ป้าเหลืองแกบอกว่าคำที่ถูกต้องที่สุดคือหม้อห้อม) มาจากการนำเอาพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ห้อม นำไปหมักในหม้อตามกรรมวิธี แล้วเมื่อนำมาย้อมผ้าดิบให้เป็นสีน้ำเงินจึงเรียกกันว่าผ้าหม้อห้อม พวกเราสังเกตเห็นรูปภาพสมเด็จพระเทพทรงเสด็จมาเยี่ยมชมบ้านหม้อห้อมป้าเหลืองด้วยเช่นกัน



     เราออกจากแพร่เมื่อตะวันคล้อยมาอยู่ที่ 45 องศา แดดเริ่มเปล่งรัศมีแรงขึ้น แต่อีกฟากฟ้าหนึ่งที่ทอดไกลออกไป เริ่มมีเมฆฝนก่อตัวขึ้นมาบ้างแล้ว และ ณ ที่แห่งนั้น คือจังหวัดพะเยานั่นเอง


   เราใช้ถนนเส้น 103 ที่ลดเลี้ยวเคี้ยวคดขึ้นเขาลงเขามุ่งหน้าสู่จังหวัดพะเยา ประมาณ 2 ชั่วโมงพวกเราก็เดินทางมาถึงกว๊านพะเยา และเมื่อได้สัมผัสถึงเวิ้งน้ำที่ไกลสุดลูกหูลูกตาทอดแน่นิ่งสงบอยู่เบื้องหน้าพร้อมทัศนียภาพอันสวยงามโดยรอบก็ทำให้ผมและทีมงานต่างรีบลงจากรถและยืนสูดอากาศยามสายก่อนบ่าย ณ ทะเลสาบน้ำจืดแห่งนั้นเข้าเต็มปอดเต็มก้อนก่อนจะพากันไปนั่งทานอาหารเที่ยงที่ร้านใกล้ๆ


  ตกบ่ายพวกเราก็ห้อตะบึงมุ่งสู่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระหว่างทางแวะชมวัดร่องขุ่นซึ่งออกแบบและสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เป็นอีกหนึ่งวัดที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษาและมีการก่อสร้างแต่งเติมอยู่ตลอดเวลา ระหว่างรอทีมงานเพื่อขึ้นรถออกเดินทางต่อ ผมแอบเห็นเสื้อที่วางขายอยู่หน้าวัดมีข้อความแสบๆ คันๆ สกรีนไว้หน้าเสื้อว่า "ดูหญิงห้ามดูแบบภูมิศาสตร์ ให้ดูแบบประวัติศาสตร์ว่าเสียเอกราชมาแล้วกี่ที"....






   และแล้วพวกเราก็เดินทางมาถึงอำเภอเชียงแสนก่อนตะวันลาลับฟ้า ระหว่างเส้นทางเราเจอฝนโปรยปรายลงมาอย่างหนักแต่เมื่อมาถึงที่สามเหลี่ยมทองคำแล้ว เม็ดฝนก็ซาเซาไปในทันที นับว่าเป็นปฏิหารย์ของการเดินทางในครั้งนี้ก็ว่าได้

No comments: